วันเสาร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2552

กว่าจะเป็นประชาธิปไตย

โดย จักรภพ เพ็ญแขที่มา คอลัมน์ “กว่าจะเป็นประชาธิปไตย” นิตยสารข่าวสังคมมุสลิมและสถานการณ์โลก ฉบับที่ 526 กันยายน 2552คุณราญาอี ธนชยางกูร แห่งนิตยสาร The Public กรุณาชวนให้ผมเขียนความคิดทางการเมืองมาสังสรรค์เสวนากันในเล่ม โดยเริ่มตั้งแต่ฉบับนี้เป็นต้นไป ผมก็ซาบซึ้งดีใจที่ยังอุตส่าห์คิดถึงคนพลัดบ้านพลัดเมือง และเปิดโอกาสให้พบกันพี่น้องประชาชนผู้เป็นที่รักในช่องทางนี้ คนชวนบอกว่าผมจะเขียนอะไรก็ได้เกี่ยวกับการเมือง ความยาวกำลังดี ผมก็นึกว่าการวิจารณ์การเมืองเฉพาะหน้าผมก็ทำอยู่แล้วในเวทีต่างๆ ไม่ขาด ไม่อยากเขียนย้ำซ้ำทวน ในที่สุดเกิดความคิดวาบขึ้นว่าอุทิศข้อเขียนทั้งหมดนี้ให้แก่ระบอบประชาธิปไตยน่าจะดีที่สุดจากบรรทัดนี้เป็นต้นไป ผมขอเล่าถึงแนวความคิด ปรัชญา และที่มาของสิ่งที่เรียกกันว่าระบอบประชาธิปไตยให้ท่านผู้อ่านที่รักได้อ่านกันเพลินๆ เพราะประชาธิปไตยเป็นของมีค่าและมีคนต่อสู้เพื่อให้ได้มาด้วยชีวิตเลือดเนื้อ แต่จะไม่เขียนเป็นตำราอย่างที่เขียนมาพอแรงแล้วในชีวิตสอนหนังสือและสื่อมวลชน เอาเป็นว่าล้อมวงคุยเรื่องประชาธิปไตยกันดีไหมครับ?เมื่อท่านผู้อ่านไม่ว่า (หรือผมไม่ได้ยินก็ไม่รู้) และคุณราญาอีก็ไม่ว่า เรามาเดินทางร่วมกันสู่ถนนสายยาวประดับด้วยดอกไม้เป็นทิวไสวสวยงาม แต่ก็มีกับระเบิดและอันธพาลคอยดักทำร้ายอยู่ตลอดเส้นทางที่เรียกว่า ประชาธิปไตย กันเลย งานนี้สนุกสนานตื่นเต้นครบทุกรสล่ะครับ... ***********************เรามักเอ่ยถึงคำว่าประชาธิปไตยอย่างง่ายๆ โดยคิดในใจว่าเกลียดกลัวเผด็จการ และอยากได้รัฐบาลที่มีความสามารถช่วยแก้ไขปัญหาของตัวเองและหมู่พวกได้ คนที่คิดลึกไปอีกนิดก็จะเรียกร้องต้องการรัฐบาลที่มาจากประชาชนในกระบวนการเลือกตั้ง เพราะรัฐบาลชนิดนั้นเท่านั้นที่จะรู้สึกผูกพันรับผิดชอบกับมวลมหาประชาชน พูดอย่างไทยๆ คือสำนึกบุญคุณและข้าวแดงแกงร้อนของชาวบ้าน ความคิดอย่างนั้นถูกต้องอย่างไม่ต้องสงสัยเลย แต่เราชาวประชาธิปไตยผู้เอาจริงเอาจัง จะไม่ก้าวลึกลงไปอีกสักหน่อยหรือว่าเรากำลังเรียกร้องอะไร ถ้าเกิดจุดตัดสินชะตากรรมกันขึ้นมาในสังคม จะเพราะเรารวมพลังของฝ่ายประชาธิปไตยได้มาก หรือฝ่ายตรงข้ามเขาแพ้ภัยตัวเองไปก็ตาม เราจะเรียกร้องอะไรบ้างที่รวมผลลัพธ์แล้วได้ระบอบประชาธิปไตยอันแท้จริง เราประชาชนต้องนึกตลอดเวลาว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่เพียงใบอนุญาตให้นักการเมืองเอาไปต้มยำทำแกงตามใจชอบ หรือให้ผู้เผด็จการคอยคิดว่าเป็น “รางวัล” ที่เขาจะโยนให้เราเมื่อเขาพอใจและจะกระชากกลับคืนไปเมื่อไหร่ก็ได้ ประชาธิปไตยคือกรรมสิทธิ์ของเราที่เราเป็นคนมอบให้นักการเมืองเอาไปบริหารแทนเป็นครั้งคราวและชั่วคราว โดยคอยระวังไม่ให้เขากลายเป็นเผด็จการไปต่างหาก แล้วประชาธิปไตยมันมีอะไรบ้างเล่า เห็นพูดกันแต่การเลือกตั้งทุกทีๆ?นับแต่โสกราติส-นักปรัชญาการเมืองและจริยศาสตร์ชาวกรีกสอนหนังสือให้ลูกศิษย์อย่างเพลโต้บันทึกไว้เป็นตำรับตำราเป็นต้นมา คำว่าประชาธิปไตยก็เริ่มจะโผล่ขึ้นในสังคมมนุษย์ แต่แกคงเคราะห์ไม่ดีนัก เพราะยุคนั้นเขาไม่รู้จักคำนี้กัน ผู้ปกครองที่แบ่งเป็นฝ่ายศาสนจักรคือพวกพระพวกหนึ่ง และผู้ปกครองที่เป็นฝ่ายฆราวาสหรือที่เรียกว่าฝ่ายอาณาจักรอีกพวกหนึ่ง เป็นเผด็จการกันทั้งนั้น ไม่รู้จักสักคนว่าการปกครองแบบประชาธิปไตยมันเป็นยังไง เขาก็จับแกไปขังคุกอานไป สุดท้ายบังคับให้ดื่มยาพิษจนตัวชา เดินขาลากไปสักพักก็ล้มลง เขาก็เอามีดมาฟันตรงข้อเท้าขาดไปทั้งสองข้าง ให้โสกราติสเลือดไหลออกตัวจนตายไป คำพูดสุดท้ายยังอุตส่าห์ย้ำว่า อย่าลืมเอาไก่ไปใช้คืนเพื่อนบ้าน ข้ายืมเขามาต้มแกงหลายวันแล้วยังไม่ได้คืน จนลูกศิษย์น้ำตาไหลกันว่าอาจารย์ใหญ่ไม่ได้คิดแค้นเคืองผู้เผด็จการที่เขาทำกับแกถึงขนาดนี้เลย แทนที่จะแช่งชักหักกระดูก แกกลับนึกถึงไก่ที่ไปยืมเขามา ชีวิตของโสกราติสเป็นจุดเริ่มต้นของแนวทางที่ต่อมาเรียกกันว่าประชาธิปไตย เพราะความคิดที่เรียกว่าคุณธรรมนั้น แกเป็นคนแรกๆ ที่นำมาประยุกต์ใช้กับการเมืองการปกครอง ที่คนยุคนั้นเขานึกว่าเกี่ยวข้องแต่เรื่องกองทัพและการใช้กำลัง หรือไม่ก็เป็นการบังคับขู่เข็ญแสดงว่าใครใหญ่กว่าใครในที่นั้น อย่างการล่าเมืองขึ้น จับผู้หญิงของเขาทำเมีย เอาผู้ชายของเขามาเป็นทาส ล้วนแต่เรื่องลบๆ ทั้งนั้น การเมืองในทัศนะใหม่จึงเริ่มต้นด้วยหลักที่เรียกว่า จริยศาสตร์ (Ethics) ซึ่งแปลง่ายๆ ไม่ปวดหัวว่า การกำหนดว่าอะไรดีอะไรชั่ว บางคนเถียงว่า เรื่องนี้เกี่ยวอะไรกับการเมือง น่าจะเป็นเรื่องศาสนาในวัดวาอารามไม่ใช่หรือ แต่โสกราติสยืนยันหนักแน่นว่าไม่ใช่ การเมืองต่อมาจะดิบจะเถื่อน เลวร้ายหรือเป็นสิบแปดมงกุฎขนาดไหนก็แล้วแต่ ต้องเริ่มต้นด้วยการแสวงหาอำนาจมาตอบสังคมนั้นๆ ให้ได้ว่า ความดีหรือสิ่งที่เรียกว่าดีคืออะไร ระบอบเผด็จการบอกว่าข้านี่แหละโว้ยคือคนบอกว่าอะไรดีอะไรชั่ว ซึ่งส่วนใหญ่ก็ดีเพราะข้าชอบ พวกเอ็งทั้งหลายมีหน้าที่ก้มหน้ารับบัญชาไปแล้วกัน ถ้าข้าบอกว่าดีแล้วเอ็งรับว่าดีก็แล้วไป อยู่ด้วยกันได้ แต่ถ้าข้าบอกไม่ดีหรือดี แล้วเอ็งเถียง นั่นแปลว่าสิ่งที่ไม่ดีคือตัวเอ็ง ข้าก็จับเอ็งไปเฆี่ยนตีทรมานจนหมอบหรือตาย ไม่ก็ขังคุกเอาไว้นานๆ แล้วแต่ข้าจะเห็นสนุกสนาน ระบอบประชาธิปไตยเอาตรงนั้นล่ะครับมาเป็นหลัก เพียงแต่ทำทุกอย่างตรงกันข้าม เริ่มต้นจากคนส่วนใหญ่ในสังคมเป็นผู้ร่วมกันทำข้อตกลงหรือหาข้อสรุปให้ได้ว่าอะไรดีและอะไรไม่ดี ผู้ปกครองที่คนส่วนใหญ่ยกขึ้นไปทำหน้าที่ก็จะบริหารสังคมไปตามแนวทางนั้น คำสำคัญที่สุดในประโยคข้างต้นคือ คนส่วนใหญ่ในสังคม สถานที่ที่คนเขามาใช้ทำข้อตกลงแบบนั้นเรียกว่า รัฐสภา หรือ parliament ซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำว่า ปาก ตั้งแต่ต้น เพราะปากเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้สิทธิของมนุษย์เพื่อบอกกล่าวให้โลกรู้สุขทุกข์ร้อนหนาวของตนเองผลจากรัฐสภา ที่มาจากแนวคิดเชิงจริยศาสตร์ของโสกราติสอีกต่อหนึ่ง ทำให้โลกในยุคหลังจากนั้นนั่งคิดนั่งสังเกตการณ์ ผ่านร้อนผ่านหนาว และผ่านเผด็จการทรราชหลายชนิดหลายพันธุ์ จนตกผลึกร่วมกันว่าคำถามหลักๆ ทางการเมืองการปกครองมีอยู่ ๕ คำถามหลักคือ
๑. สิ่งที่มีแล้วบังคับคนอื่นๆ ให้ทำตามที่ตัวเองต้องการได้ อย่างที่เรียกว่า อำนาจ นั้น เป็นของใครกันแน่?๒. คนตัวเล็กๆ ในสังคมควรได้รับสิทธิอะไรบ้าง?๓. สังคมที่เป็นผลมาจากการรวมตัวของคนเป็นจำนวนมากควรมีลักษณะอย่างไร?๔. แต่ละคนความคิดต่างกัน จะใช้หลักการอะไรร่วมกันเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย หรืออย่างที่ยุคนี้ชอบใช้คำว่าระเบียบ?๕. ผู้ปกครองมาจากไหน?ท่านเชื่อไหมครับว่า คำถามทั้ง ๕ นี้เป็นเรื่องที่ถามกันแล้วตอบกันอีกมานานนักหนา ส่วนใหญ่จะถามกันเมื่อเกิดทุกข์ร้อนทางการเมืองการปกครองและสังคมอย่างหนัก และเมื่อผ่านประสบการณ์บวกกับความเสียสละเลือดเนื้อกันไม่รู้กี่ร้อยปี จึงได้คำตอบที่คนอย่างเพลโต้ จัง-จาคส์ รุสโซ แม็คเคียเวลลี วอลแตร์ จอห์น สจ็วต มิลล์ อเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน หรือปรีดี พนมยงค์ได้รับมา เขาตอบต่างยุคต่างสมัยแต่ใจตรงกัน ในคำถามทั้ง ๕ ข้อดังนี้
๑. อำนาจสูงสุดเป็นของปวงชน ๒. บุคคลแต่ละคนย่อมมีเสรีภาพโดยไม่ละเมิดผู้ใด๓. สังคมต้องมีความเสมอภาคกัน๔. หลักร่วมของคนในสังคมคือหลักกฎหมายหรือนิติธรรมและ ๕. รัฐบาลหรือผู้ปกครองต้องมาจากการเลือกตั้ง ทั้ง ๕ ข้อจึงกลายเป็นพื้นฐานที่สำคัญสูงสุดของระบอบประชาธิปไตยนับแต่นั้นมา ผ่านมาหลายร้อยปีแล้วหลักการนี้ก็ไม่มีเสื่อม มีแต่จะศักดิ์สิทธิ์ขึ้น ผู้คนที่ยังไม่ได้รับต่างเรียกร้องต้องการและต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งเหล่านี้กันทั่วโลก วันนี้เราก็ยังเห็นทหารยอมคายอำนาจในปากีสถาน แต่ทหารและอำมาตย์ในฮอนดูรัสก็ยังคิดว่าอำนาจอธิปไตยหรืออำนาจสูงสุดเป็นของตนและพวกของตน เช่นเดียวกับกรณีเมียนมาร์ที่ขังนางอองซานซูจีเสียอีกหลายสิบเดือน ฯลฯ เราได้เห็นการยืนยันวิถีประชาธิปไตยในการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่ได้คนผิวสีมาปกครองประเทศที่เคยเชื่อกันว่าผิวขาว ได้เห็นนายกรัฐมนตรีอิตาลีที่แทบจะเกาะเก้าอี้ไม่อยู่ ทั้งที่มีเสียงข้างมากในสภาเมื่อความประพฤติส่วนตัวถูกตั้งคำถามจากสังคม ได้เห็นประชาธิปไตยต่อเนื่องในประเทศใหญ่ยักษ์อย่างอินโดนีเซีย ทั้งที่มีประวัติศาสตร์เผด็จการมาตั้งแต่ได้รับเอกราช ฯลฯ วันนี้เราถกเถียงกันอย่างรุนแรงว่ารัฐบาลเลือกตั้งในระบอบอำมาตยาธิปไตยอย่างคณะของคุณอภิสิทธิ์หรือมวลชนสีเหลืองของคุณสนธิลิ้ม สามารถทดแทนรัฐบาลของแท้ในระบอบประชาธิปไตยได้หรือไม่ คุณทักษิณเป็นเหตุหรือเป็นผลของประชาธิปไตยที่เริ่มจะได้ผลในเมืองไทย รัฐธรรมนูญฉบับใดควรเป็นธงปฏิรูปการเมืองที่ยั่งยืน ฯลฯ ข้อถกเถียงยังไม่ได้หลุดพ้นจากกรอบที่เอ่ยมาข้างต้นเลย ชาวประชาธิปไตยที่เคารพรักทั้งหลายครับ รู้สึกสับสนกับเหตุการณ์บ้านเมืองขึ้นเมื่อใด กรุณาย้อนกลับไปตรวจสอบลักษณะพื้นฐานทั้ง ๕ ข้อของประชาธิปไตย แล้วท่านจะตอบตัวเองได้ชัดเจนว่าเรากำลังอยู่ในระบอบไหนและของใคร.

วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2552

สิทธิมนุษยชน

สิทธิความเป็นคนไทย ?

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights หรือ UDHR) คือการประกาศเจตนารมณ์ในการร่วมมือระหว่างประเทศที่มีความสำคัญในการวางกรอบเบื้องต้นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และเป็นเอกสารหลักด้านสิทธิมนุษยชนฉบับแรก ซึ่งที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ให้การรับรองตามข้อมติที่ 217 A (III) เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2491 โดยประเทศไทยออกเสียงสนับสนุน
เนื้อหา

ความเป็นมาที่ปรากฏในคำปรารภ
"ด้วยเหตุที่การยอมรับศักดิ์ศรีประจำตัว และสิทธิซึ่งเสมอกันและไม่อาจโอนแก่กันได้ ของสมาชิกทั้งปวงแห่งครอบครัวมนุษย์เป็นรากฐานของเสรีภาพ ความยุติธรรม และสันติภาพในพิภพ
ด้วยเหตุที่การเมินเฉย และดูหมิ่นเหยียดหยามสิทธิมนุษยชนได้ก่อให้เกิดการอันป่าเถื่อนโหดร้ายทารุณ ซึ่งได้กระทบกระเทือนมโนธรรมของมนุษยชาติอย่างรุนแรง และโดยเหตุที่ได้มีการประกาศปณิธานอันสูงสุดของสามัญชนว่าถึงวาระแห่งโลกแล้วที่มนุษย์จะมีเสรีภาพในการพูดและในความเชื่อถือ รวมทั้งมีเสรีภาพจากความกลัวและความต้องการ
ด้วยเหตุที่เป็นสิ่งจำเป็นสิทธิมนุษยชนควรได้รับความคุ้มครองโดยหลักนิติธรรม ถ้าไม่พึงประสงค์ให้มนุษย์ต้องถูกบีบบังคับให้หาทางออก โดยการกบฏต่อทรราชและการกดขี่อันเป็นที่พึ่งแห่งสุดท้าย
ด้วยเหตุที่ประดาประชาชนแห่งสหประชาชาติได้ยืนยันไว้ในกฎบัตรถึงความเชื่อมั่นในสิทธิมนุษย์ชนขั้นพื้นฐานในศักดิ์ศรีและคุณค่าของตัวบุคคล และในความเสมอกันแห่งสิทธิของ ทั้งชายและหญิง และได้ตัดสินใจที่จะส่งเสริมความก้าวหน้าทางสังคมตลอดจนมาตรฐานแห่งชาติให้ดีขึ้น ได้มีเสรีภาพมากขึ้น
ด้วยเหตุที่รัฐสมาชิกได้ปฏิญาณที่จะให้ได้มา โดยร่วมมือกับสหประชาชาติ ซึ่งการส่งเสริมการเคารพและการถือปฏิบัติโดยสากลต่อสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน
ด้วยเหตุที่ความเข้าใจตรงกันในเรื่องสิทธิและเสรีภาพมีความสำคัญยิ่งเพื่อให้ปฏิญาณนี้เกิดสัมฤทธิผลอย่างเต็มเปี่ยม
ดังนั้น บัดนี้
สมัชชาจึงประกาศให้
ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนี้เป็นมาตรฐานร่วมกันแห่งความสำเร็จ สำหรับประชาชนทั้งหลายและประชาชาติทั้งปวง ด้วยจุดประสงค์ที่จะให้ปัจเจกบุคคลทุกผู้ทุกนามและองค์กรของสังคมทุกหน่วย โดยการระลึกเสมอ ๆ ถึงปฏิญญานี้ พยายามสั่งสอนและให้การสอนและให้การศึกษาเพื่อส่งเสริมการเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพเหล่านี้ และด้วยมาตรฐานที่เจริญก้าวหน้าไปข้างหน้า ทั้งในและระหว่างประเทศ เพื่อให้ได้มาซึ่งการยอมรับและการถือปฏิบัติต่อสิทธิเหล่านั้นสากลและได้ผลทั้งในหมู่ประชาชนของรัฐสมาชิกเอง และในหมู่ประชาชนแห่งดินแดนที่อยู่ภายใต้ดุลอาณาของรัฐสมาชิกดังกล่าว"
เนื้อหาของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
นอกจากเจตนารมณ์ที่ปรากฏในคำปรารภของปฏิญญา หลักการเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนสำคัญ 30 ประการที่ปรากฏในปฏิญญาได้แก่
มนุษย์ทั้งหลายเกิดมาอิสระเสรีและเท่าเทียมกันทั้งศักดิ์ศรีและสิทธิทุกคนได้รับการประสิทธิประสาทเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันอย่างฉันพี่น้อง
บุคคลชอบที่จะมีสิทธิและเสรีภาพประดาที่ระบุไว้ในปฏิญาณนี้ ทั้งนี้โดยไม่มีการจำแนกความแตกต่างในเรื่องใดๆ เช่น เชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความเห็นทางการเมือง หรือทางอื่นใด ชาติหรือสังคมอันเป็นที่มาเดิม ทรัพย์สิน กำเนิด หรือสถานะอื่นใด นอกจากนี้การจำแนกข้อแตกต่างโดยอาศัยมูลฐานแห่งสถานะทางการเมืองทางดุลอาณาหรือทางเรื่องระหว่างประเทศของประเทศ หรือดินแดนซึ่งบุคคลสังกัดจะทำมิได้ ทั้งนี้ไม่ว่าดินแดนดังกล่าวจะเป็นเอกราชอยู่ในความพิทักษ์ มิได้ปกครองตนเองหรืออยู่ภายใต้การจำกัดแห่งอธิปไตยอื่นใด
บุคคลมีสิทธิในการดำรงชีวิต ในเสรีธรรมและในความมั่นคงแห่งร่างกาย
บุคคลใดจะถูกบังคับให้เป็นทาส หรืออยู่ภาระจำยอมใดๆ มิได้การเป็นทาสและการค้าทาสจะมีไม่ได้ในทุกรูปแบบ
บุคคลใดจะถูกทรมาน หรือได้รับการปฏิบัติ หรือการลงทัณฑ์ซึ่งทารุณโหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือหยามเกียรติมิได้
ทุกๆ คนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลในกฎหมายไม่ว่า ณ ที่ใด
ทุกๆ คนต่างเสมอกันในกฎหมายและชอบที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกันโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใดๆ ทุกๆ คนชอบที่จะได้รับการคุ้มครองอย่างเสมอหน้าจากการเลือกปฏิบัติใดๆ อันเป็นการล่วงละเมิดปฏิญญานี้ และต่อการยุยงส่งเสริมให้เกิดการเลือกปฏิบัติเช่นนั้น
บุคคลมีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาอย่างได้ผลโดยศาลแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจเนื่องจากการกระทำใดๆ อันละเมิดต่อสิทธิขั้นมูลฐาน ซึ่งตนได้รับจากรัฐธรรมนูญหรือจากกฎหมาย
บุคคลใดจะถูกจับ กักขัง หรือเนรเทศโดยพลการมิได้
บุคคลชอบที่จะเท่าเทียมกันอย่างบริบูรณ์ในอันที่จะได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรมและเปิดเผยโดยศาลซึ่งเป็นอิสระและไร้อคติ ในการวินิจฉัยชี้ขาดสิทธิและหน้าที่ ตลอดจนข้อที่ตนถูกกล่าวหาใดๆ ทางอาญา
(1) บุคคลซึ่งถูกกล่าวหาด้วยความผิดทางอาญา มีสิทธิที่จะได้รับการสันนิฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะมีการพิสูจน์ว่ามีความผิดตามกฎหมายในการพิจารณาโดยเปิดเผย ณ ที่ซึ่งตนได้รับหลักประกันทั้งหมดที่จำเป็นในการต่อสู้คดี (2) บุคคลใดจะถูกถือว่ามีความผิดอันมีโทษทางอาญาใดๆ ด้วยเหตุผลที่ตนได้กระทำ หรือ และเว้นการกระทำการใดๆ ซึ่งกฎหมายของประเทศหรือกฎหมายระหว่างประเทศ ในขณะที่มีการกระทำนั้นมิได้ระบุว่าเป็นความผิดทางอาญามิได้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่ใช้อยู่ในขณะที่การกระทำความผิดทางอาญานั้นเกิดขึ้นมิได้
การเข้าไปแทรกสอดโดยพลการในกิจส่วนตัว ครอบครัว เคหะสถาน การส่งข่าสาร ตลอดจนการโจมตีต่อเกียรติยศและชื่อเสียงของบุคคลนั้นจะทำมิได้ ทุกๆ คน มีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายจากการแทรกสอดและโจมตีดังกล่าว
(1) บุคคลมิสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการเคลื่อนย้าย และในถิ่นที่อยู่ภายในขอบเขตดินแดนของแต่ละรัฐ (2) บุคคลมิสิทธิที่จะเดินทางออกจากประเทศใดๆ รวมทั้งของตนเองและที่จะกลับคืนสู่บ้านเกิดเมืองนอน
(1) บุคคลมีสิทธิที่จะแสวงหาและพักพิงในประเทศอื่นๆ เพื่อลี้ภัยจากการกดขี่ข่มเหง (2) สิทธินี้จะกล่าวอ้างมิได้ในกรณีการฟ้องคดี ซึ่งโดยความจริงเกิดจากความผิดที่ไม่ใช่เรื่องการเมือง หรือจากการกระทำที่ขัดต่อความมุ่งประสงค์และหลักการของสหประชาชาติ
(1) บุคคลมีสิทธิในการถือสัญชาติ (2) การถอนสัญชาติโดยพลการ หรือการปฏิเสธสิทธิที่จะเปลี่ยนสัญชาติของบุคคลใดนั้นจะกระทำมิได้
(1) ชายและหญิงเมื่อเจริญวัยบริบูรณ์แล้ว มีสิทธิที่จะสมรสและที่จะสร้างครอบครัวโดยไม่มีการจำกัดใดๆ เนื่องจากเชื้อชาติ สัญชาติ หรือศาสนา บุคคลชอบที่จะมีสิทธิเท่าเทียมกันในเรื่องการสมรส ในระหว่างการสมรสและในการขาดการสมรส (2) การสมรสจะกระทำได้ก็โดยความยินยอมอย่างเสรี และเต็มใจของคู่บ่าวสาวผู้ตั้งใจจะกระทำการสมรส (3) ครอบครัว คือ กลุ่มซึ่งเป็นหน่วยธรรมชาติและพื้นฐานของสังคมและชอบที่จะได้รับการคุ้มครองโดยสังคมและรัฐ
(1) บุคคลมีสิทธิในการเป็นเจ้าของทรัพย์สินโดยลำพังตนเอง และโดยการร่วมกับผู้อื่น (2) การยึดเอาทรัพย์สินของบุคคลใดไปเสียโดยพลการกระทำมิได้
บุคคลมีสิทธิในเสรีภาพแห่งความคิด มโนธรรม และศาสนา สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะเปลี่ยนศาสนา หรือความเชื่อถือ และเสรีภาพ ที่จะแสดงให้ศาสนาหรือความเชื่อถือประจักษ์ในรูปของการสั่งสอน การปฏิบัติกิจความเคารพสักการะบูชา สวดมนต์ และการถือปฏิบัติพิธีกรรม ไม่ว่าโดยลำพังตนเอง หรือร่วมกับผู้อื่นในประชาคมและในที่สาธารณะหรือส่วนตัว
บุคคลมีสิทธิในเสรีภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะยึดมั่นในความเห็นโดยปราศจากการแทรกสอดและที่จะแสวงหารับ ตลอดจนแจ้งข่าว รวมทั้งความคิดเห็นโดยผ่านสื่อใดๆ และโดยมิต้องคำนึงถึงเขตแดน
(1) บุคคลมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการชุมนุม และการสมาคมโดยสงบ (2) การบังคับให้บุคคลเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมจะทำมิได้
(1) บุคคลมีสิทธิที่จะเข้าร่วมในรัฐบาลแห่งประเทศของตน ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยผู้แทนซึ่งผ่านการเลือกอย่างเสรี
(2) บุคคลมีสิทธิเข้าถึงเท่ากันในบริการสาธารณะในประเทศของตน
(3) เจตจำนงของประชาชนจะเป็นฐานแห่งอำนาจของรัฐบาล เจตจำนงนี้จะแสดงออกโดยการเลือกตั้งเป็นครั้งเป็นคราวอย่างแท้จริง ด้วยการให้สิทธิออกเสียงอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันและโดยการลงคะแนนลับหรือวิธีการลงคะแนนอย่างเสรีที่คล้ายคลึงกัน
ข้อ 22
ในฐานะสมาชิกของสังคมด้วยความเพียรพยายามของชาติตลอดจนความร่วมมือระหว่างประเทศและโดยสอดคล้องกับการจัดระเบียบและทรัยากรของแต่ละรัฐ บุคคลมีสิทธิในความมั่นคงทางสังคมและชอบที่จะได้รับผลแห่งสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมซึ่งจำเป็นต่อศักดิ์ศรีและการพัฒนาบุคคลิกภาพอย่างเสรีของตน
ข้อ 23
(1) บุคคลมีสิทธิที่จะทำงานที่จะเลือกงานอย่างเสรี ที่จะมีสภาวะการทำงานที่ยุติธรรมและพอใจ และที่จะได้รับความคุ้มครองจากการว่างงาน
(2) บุคคลมิสิทธิในการรับค่าตอบแทนเท่ากันสำหรับการทำงานที่เท่ากัน โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติใดๆ
(3) บุคคลผู้ทำงานมีสิทธิในรายได้ซึ่งยุติธรรม และเอื้อประโยชน์เพื่อประกันสำหรับตนเองและครอบครัวให้การดำรงชีวิตมีค่าควรแก่ศักดิ์ศรีของมนุษย์ และถ้าจำเป็นก็ชอบที่จะได้รับความคุ้มครองทางสังคมอื่นๆ เพิ่มเติม
(4) บุคคลมีสิทธิที่จะก่อตั้งและเข้าร่วมกับสหภาพแรงงานเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของตน
ข้อ 24
บุคคลมีสิทธิในการพักผ่อนและเวลาว่าง รวมทั้งการจำกัดเวลาทำงานที่ชอบด้วยเหตุผลและมีวันหยุดครั้งคราวที่ได้รับค่าตอบแทน
ข้อ 25
(1) บุคคลมีสิทธิในมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอสำกรับสุขภาพ และความอยู่ดีของตนและครอบครัว รวมทั้งอาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาล และบริการสังคมที่จำเป็นและสิทธิในความมั่นคงในกรณีว่างงาน เจ็บป่วย ทุพพลภาพ เป็นหม้าย วัยชรา หรือการขาดปัจจัยในการเลี้ยงชีพอื่นใดในพฤติการณ์อันเกิดจากที่ตนจะควบคุมได้
(2) มารดาและบุตรชอบที่จะได้รับการดูแลแลความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เด็กทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นบุตรในหรือนอกสมรสย่อมได้รับความคุ้มครองทางสังคมเช่นเดียวกัน
ข้อ 26
(1) บุคคลมีสิทธิในการศึกษา การศึกษาจะเป็นสิ่งที่ให้เปล่าโดยไม่คิดมูลค่า อย่างน้อยที่สุดในขั้นประถมศึกษาและขั้นพื้นฐาน ขั้นประถมศึกษาให้เป็นการศึกษาภาคบังคับ ขั้นเทคนิคและขั้นประกอบอาชีพเป็นการศึกษาที่จะต้องจัดมีขึ้นโดยทั่วๆ ไป และขั้นสูงเป็นขั้นที่จะเปิดให้ทุกคนเท่ากันตามความสามารถ
(2) การศึกษาจะมุ่งไปในทางพัฒนาบุคคลิกภาพของมนุษย์อย่างเต็มที่และเพื่อเสริมพลังเคารพต่อสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นมูลฐานให้แข็งแกร่ง ทั้งจะมุ่งเสริมความเข้าใจ ขันติ และมิตรภาพในระหว่างประชาชาติ กลุ่มเชื้อชาติ หรือกลุ่มศาสนา และจะมุ่งขยายกิจกรรมของสหประชาชาติเพื่อการธำรงสันติภาพ
(3) ผู้ปกครองมีสิทธิก่อนผู้อื่นที่จะเลือกชนิดของการศึกษาสำหรับบุตรหลานของตน
ข้อ 27
(1) บุคคลมีสิทธิที่จะเข้าร่วมการใช้ชีวิตทางด้านวัฒนธรรมในประชาคมอย่างเสรี ที่จะพึงใจในศิลปะและมีส่วนในความคืบหน้าและผลประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์
(2) บุคคลมีสิทธิในการรับความคุ้มครองประโยชน์ทางด้านศีลธรรมและทางวัตถุอันเป็นผลได้จากการประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ วรรณกรรมและศิลปะซึ่งตนเป็นเจ้าของ
ข้อ 28
บุคคลชอบที่จะได้รับประโยชน์จากระเบียบสังคมและระหว่างประเทศอันจะอำนวยให้การใช้สิทธิและเสรีภาพบรรดาที่ได้ระบุในปฏิญญานี้ทำได้อย่างเต็มที่
ข้อ 29
(1) บุคคลมีหน้าที่ต่อประชาชนอันเป็นที่เดียวซึ่งบุคคิกภาพของตนจะพัฒนาได้อย่างเสรีและเต็มความสามารถ
(2) ในการใช้สิทธิและเสรีภาพ บุคคลต้องอยู่ใต้เพียงเช่นที่จำกัดโดยกำหนดแห่งกฎหมายเฉพาะ เพื่อความมุ่งประสงค์ให้ได้มาซึ่งการยอมรับ และการเคารพโดยชอบในสิทธิ เสรีภาพของผู้อื่น และเพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดอันยุติธรรมของศีลธรรม ความสงบเรียบร้อยของประชาชาติและสวัสดิการโดยทั่วๆ ไป ในสังคมประชาธิปไตย
(3) สิทธิและอิสรภาพเหล่านี้ มิว่าจะด้วยกรณีใดจะใช้ให้ขัดกับความมุ่งประสงค์และหลักการของสหประชาชาติไม่ได้
ข้อ 30
ข้อความต่างๆ ตามปฏิญญานี้ไม่เปิดช่องที่จะแปลความได้ว่าให้สิทธิใดๆ แก่รัฐ กลุ่มชนหรือบุคคลใดๆ ที่จะประกอบกิจกรรม หรือกระทำการใดๆ อันมุ่งต่อการทำลายสิทธิและเสรีภาพใดๆ บรรดาที่ได้ระบุไว้ในบทบัญญัติฉบับนี้