โดย จักรภพ เพ็ญแขที่มา คอลัมน์ “กว่าจะเป็นประชาธิปไตย” นิตยสารข่าวสังคมมุสลิมและสถานการณ์โลก ฉบับที่ 526 กันยายน 2552คุณราญาอี ธนชยางกูร แห่งนิตยสาร The Public กรุณาชวนให้ผมเขียนความคิดทางการเมืองมาสังสรรค์เสวนากันในเล่ม โดยเริ่มตั้งแต่ฉบับนี้เป็นต้นไป ผมก็ซาบซึ้งดีใจที่ยังอุตส่าห์คิดถึงคนพลัดบ้านพลัดเมือง และเปิดโอกาสให้พบกันพี่น้องประชาชนผู้เป็นที่รักในช่องทางนี้ คนชวนบอกว่าผมจะเขียนอะไรก็ได้เกี่ยวกับการเมือง ความยาวกำลังดี ผมก็นึกว่าการวิจารณ์การเมืองเฉพาะหน้าผมก็ทำอยู่แล้วในเวทีต่างๆ ไม่ขาด ไม่อยากเขียนย้ำซ้ำทวน ในที่สุดเกิดความคิดวาบขึ้นว่าอุทิศข้อเขียนทั้งหมดนี้ให้แก่ระบอบประชาธิปไตยน่าจะดีที่สุดจากบรรทัดนี้เป็นต้นไป ผมขอเล่าถึงแนวความคิด ปรัชญา และที่มาของสิ่งที่เรียกกันว่าระบอบประชาธิปไตยให้ท่านผู้อ่านที่รักได้อ่านกันเพลินๆ เพราะประชาธิปไตยเป็นของมีค่าและมีคนต่อสู้เพื่อให้ได้มาด้วยชีวิตเลือดเนื้อ แต่จะไม่เขียนเป็นตำราอย่างที่เขียนมาพอแรงแล้วในชีวิตสอนหนังสือและสื่อมวลชน เอาเป็นว่าล้อมวงคุยเรื่องประชาธิปไตยกันดีไหมครับ?เมื่อท่านผู้อ่านไม่ว่า (หรือผมไม่ได้ยินก็ไม่รู้) และคุณราญาอีก็ไม่ว่า เรามาเดินทางร่วมกันสู่ถนนสายยาวประดับด้วยดอกไม้เป็นทิวไสวสวยงาม แต่ก็มีกับระเบิดและอันธพาลคอยดักทำร้ายอยู่ตลอดเส้นทางที่เรียกว่า ประชาธิปไตย กันเลย งานนี้สนุกสนานตื่นเต้นครบทุกรสล่ะครับ... ***********************เรามักเอ่ยถึงคำว่าประชาธิปไตยอย่างง่ายๆ โดยคิดในใจว่าเกลียดกลัวเผด็จการ และอยากได้รัฐบาลที่มีความสามารถช่วยแก้ไขปัญหาของตัวเองและหมู่พวกได้ คนที่คิดลึกไปอีกนิดก็จะเรียกร้องต้องการรัฐบาลที่มาจากประชาชนในกระบวนการเลือกตั้ง เพราะรัฐบาลชนิดนั้นเท่านั้นที่จะรู้สึกผูกพันรับผิดชอบกับมวลมหาประชาชน พูดอย่างไทยๆ คือสำนึกบุญคุณและข้าวแดงแกงร้อนของชาวบ้าน ความคิดอย่างนั้นถูกต้องอย่างไม่ต้องสงสัยเลย แต่เราชาวประชาธิปไตยผู้เอาจริงเอาจัง จะไม่ก้าวลึกลงไปอีกสักหน่อยหรือว่าเรากำลังเรียกร้องอะไร ถ้าเกิดจุดตัดสินชะตากรรมกันขึ้นมาในสังคม จะเพราะเรารวมพลังของฝ่ายประชาธิปไตยได้มาก หรือฝ่ายตรงข้ามเขาแพ้ภัยตัวเองไปก็ตาม เราจะเรียกร้องอะไรบ้างที่รวมผลลัพธ์แล้วได้ระบอบประชาธิปไตยอันแท้จริง เราประชาชนต้องนึกตลอดเวลาว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่เพียงใบอนุญาตให้นักการเมืองเอาไปต้มยำทำแกงตามใจชอบ หรือให้ผู้เผด็จการคอยคิดว่าเป็น “รางวัล” ที่เขาจะโยนให้เราเมื่อเขาพอใจและจะกระชากกลับคืนไปเมื่อไหร่ก็ได้ ประชาธิปไตยคือกรรมสิทธิ์ของเราที่เราเป็นคนมอบให้นักการเมืองเอาไปบริหารแทนเป็นครั้งคราวและชั่วคราว โดยคอยระวังไม่ให้เขากลายเป็นเผด็จการไปต่างหาก แล้วประชาธิปไตยมันมีอะไรบ้างเล่า เห็นพูดกันแต่การเลือกตั้งทุกทีๆ?นับแต่โสกราติส-นักปรัชญาการเมืองและจริยศาสตร์ชาวกรีกสอนหนังสือให้ลูกศิษย์อย่างเพลโต้บันทึกไว้เป็นตำรับตำราเป็นต้นมา คำว่าประชาธิปไตยก็เริ่มจะโผล่ขึ้นในสังคมมนุษย์ แต่แกคงเคราะห์ไม่ดีนัก เพราะยุคนั้นเขาไม่รู้จักคำนี้กัน ผู้ปกครองที่แบ่งเป็นฝ่ายศาสนจักรคือพวกพระพวกหนึ่ง และผู้ปกครองที่เป็นฝ่ายฆราวาสหรือที่เรียกว่าฝ่ายอาณาจักรอีกพวกหนึ่ง เป็นเผด็จการกันทั้งนั้น ไม่รู้จักสักคนว่าการปกครองแบบประชาธิปไตยมันเป็นยังไง เขาก็จับแกไปขังคุกอานไป สุดท้ายบังคับให้ดื่มยาพิษจนตัวชา เดินขาลากไปสักพักก็ล้มลง เขาก็เอามีดมาฟันตรงข้อเท้าขาดไปทั้งสองข้าง ให้โสกราติสเลือดไหลออกตัวจนตายไป คำพูดสุดท้ายยังอุตส่าห์ย้ำว่า อย่าลืมเอาไก่ไปใช้คืนเพื่อนบ้าน ข้ายืมเขามาต้มแกงหลายวันแล้วยังไม่ได้คืน จนลูกศิษย์น้ำตาไหลกันว่าอาจารย์ใหญ่ไม่ได้คิดแค้นเคืองผู้เผด็จการที่เขาทำกับแกถึงขนาดนี้เลย แทนที่จะแช่งชักหักกระดูก แกกลับนึกถึงไก่ที่ไปยืมเขามา ชีวิตของโสกราติสเป็นจุดเริ่มต้นของแนวทางที่ต่อมาเรียกกันว่าประชาธิปไตย เพราะความคิดที่เรียกว่าคุณธรรมนั้น แกเป็นคนแรกๆ ที่นำมาประยุกต์ใช้กับการเมืองการปกครอง ที่คนยุคนั้นเขานึกว่าเกี่ยวข้องแต่เรื่องกองทัพและการใช้กำลัง หรือไม่ก็เป็นการบังคับขู่เข็ญแสดงว่าใครใหญ่กว่าใครในที่นั้น อย่างการล่าเมืองขึ้น จับผู้หญิงของเขาทำเมีย เอาผู้ชายของเขามาเป็นทาส ล้วนแต่เรื่องลบๆ ทั้งนั้น การเมืองในทัศนะใหม่จึงเริ่มต้นด้วยหลักที่เรียกว่า จริยศาสตร์ (Ethics) ซึ่งแปลง่ายๆ ไม่ปวดหัวว่า การกำหนดว่าอะไรดีอะไรชั่ว บางคนเถียงว่า เรื่องนี้เกี่ยวอะไรกับการเมือง น่าจะเป็นเรื่องศาสนาในวัดวาอารามไม่ใช่หรือ แต่โสกราติสยืนยันหนักแน่นว่าไม่ใช่ การเมืองต่อมาจะดิบจะเถื่อน เลวร้ายหรือเป็นสิบแปดมงกุฎขนาดไหนก็แล้วแต่ ต้องเริ่มต้นด้วยการแสวงหาอำนาจมาตอบสังคมนั้นๆ ให้ได้ว่า ความดีหรือสิ่งที่เรียกว่าดีคืออะไร ระบอบเผด็จการบอกว่าข้านี่แหละโว้ยคือคนบอกว่าอะไรดีอะไรชั่ว ซึ่งส่วนใหญ่ก็ดีเพราะข้าชอบ พวกเอ็งทั้งหลายมีหน้าที่ก้มหน้ารับบัญชาไปแล้วกัน ถ้าข้าบอกว่าดีแล้วเอ็งรับว่าดีก็แล้วไป อยู่ด้วยกันได้ แต่ถ้าข้าบอกไม่ดีหรือดี แล้วเอ็งเถียง นั่นแปลว่าสิ่งที่ไม่ดีคือตัวเอ็ง ข้าก็จับเอ็งไปเฆี่ยนตีทรมานจนหมอบหรือตาย ไม่ก็ขังคุกเอาไว้นานๆ แล้วแต่ข้าจะเห็นสนุกสนาน ระบอบประชาธิปไตยเอาตรงนั้นล่ะครับมาเป็นหลัก เพียงแต่ทำทุกอย่างตรงกันข้าม เริ่มต้นจากคนส่วนใหญ่ในสังคมเป็นผู้ร่วมกันทำข้อตกลงหรือหาข้อสรุปให้ได้ว่าอะไรดีและอะไรไม่ดี ผู้ปกครองที่คนส่วนใหญ่ยกขึ้นไปทำหน้าที่ก็จะบริหารสังคมไปตามแนวทางนั้น คำสำคัญที่สุดในประโยคข้างต้นคือ คนส่วนใหญ่ในสังคม สถานที่ที่คนเขามาใช้ทำข้อตกลงแบบนั้นเรียกว่า รัฐสภา หรือ parliament ซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำว่า ปาก ตั้งแต่ต้น เพราะปากเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้สิทธิของมนุษย์เพื่อบอกกล่าวให้โลกรู้สุขทุกข์ร้อนหนาวของตนเองผลจากรัฐสภา ที่มาจากแนวคิดเชิงจริยศาสตร์ของโสกราติสอีกต่อหนึ่ง ทำให้โลกในยุคหลังจากนั้นนั่งคิดนั่งสังเกตการณ์ ผ่านร้อนผ่านหนาว และผ่านเผด็จการทรราชหลายชนิดหลายพันธุ์ จนตกผลึกร่วมกันว่าคำถามหลักๆ ทางการเมืองการปกครองมีอยู่ ๕ คำถามหลักคือ
๑. สิ่งที่มีแล้วบังคับคนอื่นๆ ให้ทำตามที่ตัวเองต้องการได้ อย่างที่เรียกว่า อำนาจ นั้น เป็นของใครกันแน่?๒. คนตัวเล็กๆ ในสังคมควรได้รับสิทธิอะไรบ้าง?๓. สังคมที่เป็นผลมาจากการรวมตัวของคนเป็นจำนวนมากควรมีลักษณะอย่างไร?๔. แต่ละคนความคิดต่างกัน จะใช้หลักการอะไรร่วมกันเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย หรืออย่างที่ยุคนี้ชอบใช้คำว่าระเบียบ?๕. ผู้ปกครองมาจากไหน?ท่านเชื่อไหมครับว่า คำถามทั้ง ๕ นี้เป็นเรื่องที่ถามกันแล้วตอบกันอีกมานานนักหนา ส่วนใหญ่จะถามกันเมื่อเกิดทุกข์ร้อนทางการเมืองการปกครองและสังคมอย่างหนัก และเมื่อผ่านประสบการณ์บวกกับความเสียสละเลือดเนื้อกันไม่รู้กี่ร้อยปี จึงได้คำตอบที่คนอย่างเพลโต้ จัง-จาคส์ รุสโซ แม็คเคียเวลลี วอลแตร์ จอห์น สจ็วต มิลล์ อเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน หรือปรีดี พนมยงค์ได้รับมา เขาตอบต่างยุคต่างสมัยแต่ใจตรงกัน ในคำถามทั้ง ๕ ข้อดังนี้
๑. อำนาจสูงสุดเป็นของปวงชน ๒. บุคคลแต่ละคนย่อมมีเสรีภาพโดยไม่ละเมิดผู้ใด๓. สังคมต้องมีความเสมอภาคกัน๔. หลักร่วมของคนในสังคมคือหลักกฎหมายหรือนิติธรรมและ ๕. รัฐบาลหรือผู้ปกครองต้องมาจากการเลือกตั้ง ทั้ง ๕ ข้อจึงกลายเป็นพื้นฐานที่สำคัญสูงสุดของระบอบประชาธิปไตยนับแต่นั้นมา ผ่านมาหลายร้อยปีแล้วหลักการนี้ก็ไม่มีเสื่อม มีแต่จะศักดิ์สิทธิ์ขึ้น ผู้คนที่ยังไม่ได้รับต่างเรียกร้องต้องการและต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งเหล่านี้กันทั่วโลก วันนี้เราก็ยังเห็นทหารยอมคายอำนาจในปากีสถาน แต่ทหารและอำมาตย์ในฮอนดูรัสก็ยังคิดว่าอำนาจอธิปไตยหรืออำนาจสูงสุดเป็นของตนและพวกของตน เช่นเดียวกับกรณีเมียนมาร์ที่ขังนางอองซานซูจีเสียอีกหลายสิบเดือน ฯลฯ เราได้เห็นการยืนยันวิถีประชาธิปไตยในการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่ได้คนผิวสีมาปกครองประเทศที่เคยเชื่อกันว่าผิวขาว ได้เห็นนายกรัฐมนตรีอิตาลีที่แทบจะเกาะเก้าอี้ไม่อยู่ ทั้งที่มีเสียงข้างมากในสภาเมื่อความประพฤติส่วนตัวถูกตั้งคำถามจากสังคม ได้เห็นประชาธิปไตยต่อเนื่องในประเทศใหญ่ยักษ์อย่างอินโดนีเซีย ทั้งที่มีประวัติศาสตร์เผด็จการมาตั้งแต่ได้รับเอกราช ฯลฯ วันนี้เราถกเถียงกันอย่างรุนแรงว่ารัฐบาลเลือกตั้งในระบอบอำมาตยาธิปไตยอย่างคณะของคุณอภิสิทธิ์หรือมวลชนสีเหลืองของคุณสนธิลิ้ม สามารถทดแทนรัฐบาลของแท้ในระบอบประชาธิปไตยได้หรือไม่ คุณทักษิณเป็นเหตุหรือเป็นผลของประชาธิปไตยที่เริ่มจะได้ผลในเมืองไทย รัฐธรรมนูญฉบับใดควรเป็นธงปฏิรูปการเมืองที่ยั่งยืน ฯลฯ ข้อถกเถียงยังไม่ได้หลุดพ้นจากกรอบที่เอ่ยมาข้างต้นเลย ชาวประชาธิปไตยที่เคารพรักทั้งหลายครับ รู้สึกสับสนกับเหตุการณ์บ้านเมืองขึ้นเมื่อใด กรุณาย้อนกลับไปตรวจสอบลักษณะพื้นฐานทั้ง ๕ ข้อของประชาธิปไตย แล้วท่านจะตอบตัวเองได้ชัดเจนว่าเรากำลังอยู่ในระบอบไหนและของใคร.
วันเสาร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
สวัสดีทุกท่านที่เข้ามาชมครับ
ตอบลบ